รายการแจ้งเตือน

ข่าวสาร กิจกรรม
สกสว. จัดเสวนาออนไลน์ แผนงานวิจัยและนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ EP1 : “ChatGPT AI Chatbot”

10/05/2023

จำนวนผู้รับชม 528

ข่าวประชาสัมพันธ์ สกสว.

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดเสวนาออนไลน์ แผนงานวิจัยและนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ EP.1 : “ChatGPT AI Chatbot” เพื่อแนะนำองค์ความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรมทางด้านดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ โดยเฉพาะในประเด็น ChatGPT

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดเสวนาออนไลน์ แผนงานวิจัยและนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ EP.1 : “ChatGPT AI Chatbot” เพื่อแนะนำองค์ความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรมทางด้านดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ โดยเฉพาะในประเด็น ChatGPT เพื่อหารือโจทย์การวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์อนาคต และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี Generative AI (เช่น ChatGPT) กับการสร้างสรรค์เศรษฐกิจดิจิทัล โดยมี ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร นายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ร่วมบรรยายพิเศษ “OpenThaiGPT: ChatGPT Opensource ภาษาไทย โดยคนไทย” ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม ประธานกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้ร่วมก่อตั้ง ZTRUS ร่วมบรรยายพิเศษ “What we should know about Generative AI in 2023 : สิ่งที่เราน่าจะรู้ เกี่ยวกับ Generative AI ในปี 2566” และ ดร.ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล กรรมการผู้จัดการบริษัท กสิกร แล็บส์ จำกัด ร่วมบรรยายพิเศษ “Generative AI : Challenges and Opportunities in Business”

โอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า สกสว. ได้จัดทำแผนด้าน ววน. 2566 - 2570 เพื่อเป็นเครื่องมือกำหนดเป้าหมายการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้สอดคล้องกับเป้าหมายของการพัฒนา “พลิกโฉมให้ประเทศมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและยั่งยืน” ซึ่งปัจจุบัน คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ปี พ.ศ. 2566 - 2570 หรือแผนระยะ 5 ปี ใน 4 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย

  1. ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้มี ความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมสู่อนาคต โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและ นวัตกรรม
  2. ยุทธศาสตร์ที่ 2 การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม
  3. ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ ก้าวหน้าล้ำยุค เพื่อสร้างโอกาสใหม่และความพร้อมของประเทศในอนาคต และ
  4. ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากำลังคนและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เป็นฐานการ ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม

ในส่วนนี้ขอกล่าวถึง ยุทธศาสตร์ที่ 1 ที่มุ่งเน้นการดำเนินงาน 8 เรื่อง และ หนึ่งในจำนวนนี้เป็นเรื่องปัญญาประดิษฐ์ ด้วยตระหนักว่า เทคโนโลยีดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เป็นกลุ่มเทคโนโลยีที่มีการนำมาประยุกต์ใช้อย่างเร่งด่วนในทุกอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลได้

ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร บรรยายว่า OpenThaiGPT จะเป็น AI Chatbot ภาษาไทย ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยี AI โดยช่วยลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ทำให้คนไทย และประเทศไทยมีเทคโนโลยี AI ของตัวเอง โดยปัจจุบันหลายองค์กรสามารถเข้าไปใช้บริการ ChatGPT เพื่อเพิ่มช่องทางถามตอบ หรือ แนะนำผลิตภัณฑ์ต่างๆ นอกจาการเข้าไปใช้บริการแล้ว ผู้ประกอบการยังสามารถต่อยอดแอปพลิเคชัน ที่ทำให้เกิดผู้ประกอบการหรือสตาร์ทอัพรายใหม่ ๆ และบริการดิจิทัลใหม่ๆ เพิ่มขึ้น

โดยที่ผ่านมามีการพัฒนา AI อย่างต่อเนื่องแบ่งเป็น 3 ยุค ยุคแรก คือ Artificial Narrow Intelligence (ANI) ซึ่งเป็น AI ที่มีความถนัดในศาสตร์แขนงใด แขนงหนึ่ง เท่านั้น ยุคที่ 2 Artificial General Intelligence (AGI) เป็น AI ที่มีความสามารถเรียนรู้ การใช้เหตุผล แก้ไขปัญหา สร้างกลยุทธ์และตัดสินใจได้ในสภาวะที่ไม่สามารถคาดเดาสถานการณ์ได้ โดยขณะนี้เราอยู่ช่วงยุคที่ 2 ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ChatGPT ที่มีความสามารถเทียบเท่ามนุษย์ สามารถสอบแพทย์ กฎหมายผ่าน และ ยุคที่ 3 Artificial Super Intelligence (ASI) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูง มีความฉลาดเหนือมนุษย์

ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม บรรยายว่า Generative AI เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เราเข้าถึงชุดข้อมูลที่มีอยู่ และ การนำข้อมูลมาสร้างใหม่ ด้วยอัลกอริทึมแบบ Generative Model ที่สามารถนำมาใช้งานหลากหลาย เช่น การสร้างภาพ การประมวลผล การสร้างเสียงดนตรี ที่เราต้องเร่งศึกษาเรียนรู้ จุดอ่อน จุดแข็งและการใช้จากเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม นอกจากการวิจัยพัฒนา ต่อยอดทางเทคโนโลยีแล้ว การพัฒนาคนให้สามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญเช่นกัน เพราะอย่างไรมนุษย์จำเป็นต้องทำงานร่วมกับ AI

ทั้งนี้ในบริบทของการร่วมพัฒนา AI ของไทย ยังมีโจทย์ที่ท้าทายในการผสมผสานระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยี และ ด้านสังคมศาสตร์ เพื่อให้ AI สามารถเข้าใจเหตุและผล (Explainable AI) และประเด็นทางด้านการดูแล และกำหนดการใช้งานให้กับ AI ทำงานร่วมกับมนุษย์ โดยเฉพาะในบริบทของคนไทย ท้ายที่สุดแล้ว เทคโนโลยีจะมาช่วยสร้างประโยชน์ ให้คนไทย ในหลากหลายมิติได้อย่างเหมาะสม

ดร.ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล บรรยายว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์นั้นสามารถสร้างผลลัพธ์ในรูปแบบต่างๆ เช่น ข้อความ ภาพ เสียง วิดีโอ ชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์ ฯลฯ จากชุดข้อมูล ชุดคำสั่ง หรือคำอธิบายที่มนุษย์ป้อนเข้าไป (Input Prompts) โดยการวิจัยและนวัตกรรม การพัฒนาเทคโนโลยี การจัดการโครงสร้างพื้นฐาน ความร่วมมือ และการพัฒนาขีดความสามารถ ในปัจจุบันสอดคล้องกับเทรนด์ AI และความท้าทายในปัจจุบัน เช่น การสร้างภาพเสมือนจริงของบุคคล เพื่อทำให้เราเห็นภาพในอนาคตว่า ร่างกายหรือรูปร่างของเรานั้นจะเป็นอย่างไร และจะต้องเตรียมวางแผนการดูแลตนเองในการใช้ชีวิตต่อไป เช่นเดียวกับการใช้ AI มาช่วยให้เราได้รู้เท่าทัน ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ หรือภัยคุกคามทางไซเบอร์ ที่มีการปลอมเป็นตัวบุคคล เพื่อสื่อสารข่าวปลอม การตรวจสอบสิทธิความเป็นเจ้าของในตัวของภาพถ่าย กราฟฟิกต่าง ๆ และ เรื่อง Interpretability and Correctness หรือการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ทุกธุรกิจจะต้องให้ความสำคัญ

การจัดงานในครั้งนี้ สกสว. ได้ข้อมูลสำคัญ ที่จะนำไปสู่การกำหนดโจทย์การพัฒนาสำคัญที่จะช่วยทำให้สามารถขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญของแผนงาน การพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะรวมทั้งหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การบริการและพัฒนาประเทศให้สามารถแข่งขันได้ต่อไป

icon phoneTelephone

+66 (0) 2 278 8200

icon mailE-Mail Us

icon socialSocial Media

icon facebook icon twitter icon google

icon mapAddress

ชั้น 14 อาคาร เอส เอ็ม ทาวเวอร์