รายการแจ้งเตือน

เกี่ยวกับ สกสว.
icon home

แผนกลยุทธ์องค์กร สกสว. พ.ศ. 2564 - 2566 (ฉบับทบทวน พ.ศ. 2565) ฉบับนี้ จะเป็นแนวทางสำคัญให้ทุกส่วนงานของ สกสว. นำไปใช้ในการวางแผนปฏิบัติงาน เพื่อให้สามารถดำเนินภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สามารถรับมือกับความท้าทายทั้งในปัจจุบันและอนาคต ตลอดจนใช้เป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุเจตจำนงขององค์กร “สกสว. นำการขับเคลื่อนระบบ ววน. อย่างมีส่วนร่วมเพื่อส่งมอบคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว”

พระราชบัญญัติ กฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ภายใต้สภาพแวดล้อมด้านเศรษฐกิจ สังคม และการแข่งขันของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว รุนแรง และมีความไม่แน่นอนสูงในปัจจุบัน ประเทศไทยต้องสร้างความเข้มแข็งให้ระบบเศรษฐกิจและสังคม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อนำประเทศไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมจึงเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่การพัฒนาภายใต้ความท้าทายดังกล่าว

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 136 ตอนที่ 57 ก หน้า 27 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 มาตรา 43 โดยให้มีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เรียกโดยย่อว่า “สกสว.” ทำหน้าที่รับผิดชอบงานวิชาการและงานธุรการของคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุนและขับเคลื่อนระบบการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และสหวิทยาการ เพื่อสร้างองค์ความรู้ พัฒนานโยบายสาธารณะและสนับสนุนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ในเชิงเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยผ่านการจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) การขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติ (Policy Deployment) และการจัดสรรงบประมาณ (Budget Allocation) ให้หน่วยงานในระบบ ววน.

เพื่อขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวให้สัมฤทธิ์ผล สกสว. จึงได้จัดทำแผนกลยุทธ์ สกสว. พ.ศ. 2564 - 2566 เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการนำองค์กรไปสู่การเป็นองค์กรสมรรถนะสูงในการขับเคลื่อนนโยบายด้าน ววน. และจัดการระบบงบประมาณของกองทุน ววน. ให้เกิดความคุ้มค่า ในการลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ตอบสนองต่อทิศทางการพัฒนาประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี

แผนกลยุทธ์ สกสว. พ.ศ. 2564 - 2566 มุ่งพัฒนาการขับเคลื่อนแผนและนโยบายด้าน ววน. การจัดสรรงบประมาณด้าน ววน. ของประเทศให้มีประสิทธิภาพ สร้างการทำงานแบบเป็นหุ้นส่วนกับหน่วยงานต่าง ๆ มีระบบติดตามประเมินผล ตลอดจนมีระบบการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ให้เกิดผลลัพธ์และผลกระทบสู่สังคมอย่างชัดเจน ซึ่งประกอบไปด้วยกลยุทธ์ที่สำคัญ 5 กลยุทธ์ ได้แก่

กลยุทธ์ที่ 1 กำหนดทิศทางและขับเคลื่อนการสร้างผลงานด้าน ววน. ให้เกิดผลกระทบสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยการวางแผนและการจัดสรรงบประมาณให้เกิดผลสัมฤทธิ์ รวมถึงการพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสร้างผลงานและนำผลงานไปใช้ประโยชน์ มุ่งเน้นการกำหนดทิศทางและจัดลำดับความสำคัญของการลงทุนด้าน ววน. ที่สร้างผลกระทบสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ผ่านกลไกการเพิ่มศักยภาพระบบการวางแผน จัดสรร และบริหารงบประมาณให้สอดคล้องกับทิศทางยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นปัญหา และสภาพความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคมโลก พัฒนาระบบ/กลไกการประเมินผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI/SROI) ระดับแผนงาน พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ และการวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงลึกเพื่อใช้ในการวางแผนและจัดสรรงบประมาณ และพัฒนากลไกการคาดการณ์และติดตามความเปลี่ยนแปลงในอนาคต (Stra-tegic Foresight) เพื่อใช้ในการวางแผนและจัดสรรงบประมาณ

กลยุทธ์ที่ 2 บูรณาการและขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับกองทุนและหน่วยงานอื่นเพื่อให้การลงทุนด้าน ววน. มีทิศทางและเป้าหมายที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้าน ววน.ของประเทศมุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อผลักดันให้เกิดการเพิ่มงบประมาณด้าน ววน. ให้มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นและเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ ผ่านกลไกการบูรณาการการทำงานในเชิงรุก สร้างความเชื่อมั่นร่วมกับกองทุนอื่น และการลงทุนในภาครัฐและเอกชนในระบบนิเวศด้าน ววน.

กลยุทธ์ที่ 3 สร้างการทำงานแบบเป็นหุ้นส่วนกับหน่วยบริหารและจัดการทุนและหน่วยงานในระบบ ววน. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานเข้มแข็งในการส่งมอบผลงานเพื่อให้การลงทุนด้าน ววน. เกิดประสิทธิผลและความเชื่อมั่นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นร่วมกันและขับเคลื่อนให้เกิดประสิทธิผลของระบบ ววน. โดยเสริมสร้างและการพัฒนาระบบหรือกลไกในการบริหารจัดการทุนร่วมกันระหว่างหน่วยงานในระบบ ววน. อันประกอบไปด้วย เครือข่าย ววน. เครือข่าย PMU กลุ่มผู้กำหนดนโยบาย กลุ่มผู้ผลิตงานวิจัย รวมถึงกลุ่มที่สนับสนุนงบประมาณด้านการวิจัย ภายใต้การทำงานร่วมกันในรูปแบบหุ้นส่วนทางกลยุทธ์ (Strategic Partnership)

กลยุทธ์ที่ 4 สื่อสารสาธารณะเพื่อให้ประชาชน ประชาคมวิจัย และผู้กำหนดนโยบาย ตระหนักในความสำคัญของระบบ ววน. และบทบาทของ สกสว. มุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงความสำคัญของระบบ ววน. และเข้ามามีส่วนร่วมกับการขับเคลื่อนร่วมกัน โดยมุ่งเน้นการสื่อสารที่ชัดเจนระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

กลยุทธ์ที่ 5 ออกแบบโครงสร้างองค์กรใหม่ ยกระดับบุคลากรเพื่อให้มีความยืดหยุ่น ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและรองรับการทำงานร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนในระบบ ววน. การขับเคลื่อนนโยบายและบริหารกองทุนให้เกิดผลสัมฤทธิ์มุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนให้ สกสว. มีขีดความสามารถและศักยภาพในการขับเคลื่อนเป้าหมายทางกลยุทธ์ที่ได้กำหนดไว้ โดยให้ความสำคัญกับการจัดวางโครงสร้างองค์กรให้มีความเหมาะสมกับการขับเคลื่อนภารกิจ การยกระดับบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถและศักยภาพที่สอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนา มีความยืดหยุ่น และทันต่อความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกที่เกิดขึ้น

เพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์ดังกล่าวไปสู่การบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ สกสว. ได้กำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนโดยใช้รูปแบบการบริหารจัดการสมัยใหม่ที่เน้นกลไกการบริหารจัดการในรูปแบบ Agile Organization การขับเคลื่อนองค์กรด้วยความรวดเร็ว ทันต่อความเปลี่ยนแปลงและเปิดกว้าง โดยเน้นผู้รับบริการและเป้าหมายทางกลยุทธ์เป็นศูนย์กลาง รวมถึงพัฒนาให้มีกลไกการติดตามประเมินผลที่มีความชัดเจน มุ่งเน้นผลลัพธ์ในเรื่องที่มีความสำคัญและสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันทั่วทั้งองค์กร ทั้งนี้ สกสว. เชื่อว่าแผนกลยุทธ์ที่กำหนดไว้ จะมีส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนาด้าน ววน. ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงต่อไป

เอกสารเพิ่มเติม

icon phoneTelephone

+66 (0) 2 278 8200

icon mailE-Mail Us

icon socialSocial Media

icon facebook icon twitter icon google

icon mapAddress

ชั้น 14 อาคาร เอส เอ็ม ทาวเวอร์